• หน้าแรก
  • Clickzy Tips
  • 7 วิธีจัดโต๊ะเขียนหนังสือ แบบรักษาสุขภาพ เอาใจชาว Work From Home

เมื่อการทำงานจากบ้านกลายเป็นเรื่องปกติ การจัดโต๊ะเขียนหนังสือให้เหมาะกับการทำงานเป็นเวลานาน ๆ จึงสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพที่อาจจะตามมาจากการนั่งทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปวดหลัง ปวดคอ ปวดบ่าและไหล่จากการนั่งอยู่ในท่าเดิมนานเกินไป หรือตำแหน่งการจัดวางคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมทำให้ต้องเพ่งมองจนปวดตา แล้วจะมีวิธีการอะไรบ้างในการจัดโต๊ะเขียนหนังสือที่จะช่วยให้การ Work From Home หรือการทำงานจากที่บ้านของเราราบรื่นได้ตลอดทั้งวัน วันนี้ Clickzy มี 7 Tips ดี ๆ มาแบ่งปันกับทุกคนกัน

โต๊ะเขียนหนังสือ สีดำ

1. ปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้พอดีกัน

สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ ของการจัดโต๊ะเขียนหนังสือเพื่อทำงานที่บ้าน คือระยะต่าง ๆ ของเฟอร์นิเจอร์ที่พอเหมาะพอดีกับสรีระร่างกายในท่านั่งของเรา โดยความสูงของเบาะนั่งเก้าอี้ควรอยู่ในระยะที่เรานั่งและเท้าแตะพื้นโดยที่หัวเข่าอยู่ในระนาบเกือบเป็นมุมฉาก ต่ำกว่าระดับสะโพกเล็กน้อย ขณะที่ความสูงของหน้าโต๊ะควรอยู่ในระดับที่เสมอกับแท่นพักแขนของเก้าอี้ เพื่อที่ระดับของแขนและข้อมือจะอยู่ในระนาบเดียวกันขณะที่เราพิมพ์งานหรือใช้เมาส์ ช่วยลดการเมื่อยแขนหากอยู่ในระดับที่ต้องยกข้อมือหรือข้อศอกนาน ๆ ซึ่งหากเลือกใช้โต๊ะทำงานและเก้าอี้แบบปรับระดับได้จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการปรับระดับสูงต่ำต่าง ๆ ให้เหมาะกับร่างกายของเราได้มากที่สุดนั่นเอง

แต่หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถปรับระดับต่าง ๆ ได้ สำหรับคนที่ตัวเล็กอาจหาเบาะรองนั่งเสริมเก้าอี้เพื่อให้ขณะที่นั่งอยู่สามารถวางแขนได้เสมอกับหน้าโต๊ะมากขึ้น

2. เลือกเก้าอี้ที่มีแท่นพักแขนไว้ก่อน

เมื่อเลือกเก้าอี้สำหรับการจัดโต๊ะเขียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ที่ออกแบบมาเฉพาะสำนักงาน หรือเป็นเก้าอี้ขาตั้งธรรมดาก็ตาม ควรเลือกแบบที่มีแท่นพักแขนไว้ก่อน เพราะจากข้อก่อนหน้าในเรื่องของการจัดระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ หากในท่านั่งทำงานของเราต้องคอยยกแขนให้เสมอกับหน้าโต๊ะเป็นเวลานาน ๆ ก็จะต้องเมื่อยแขนอย่างแน่นอนหากเป็นเก้าอี้แบบไม่มีที่พักแขน

3. หมอนรองหลัง สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

เนื่องจากในท่านั่ง หลังของเราจะเป็นแนวโค้งเว้าเข้าหาลำตัวเล็กน้อยคล้ายตัวอักษร “S” และไม่ได้พิงแนบไปกับผนักพิงหลังอันแข็งตรงของเก้าอี้ ในการจัดโต๊ะเขียนหนังสือหากว่าเราไม่ได้ใช้เก้าอี้สำนักงาน หรือเก้าอี้เพื่อสุขภาพที่ถูกออกแบบมาให้เว้าเข้ากับสรีระการนั่งของมนุษย์โดยเฉพาะ ควรมีหมอนใบเล็ก ๆ สักวางรองกับผนักพิงหลังของเก้าอี้เพื่อรองรับแผ่นหลังส่วนล่างของเรา ป้องการอาการหลังค่อมและการกดทับของหลังส่วนล่างที่รับน้ำหนักลำตัวของเรามากเกินไปนั่นเอง

โต๊ะเขียนหนังสือ สีดำ

4. จัดตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้พอดีกับระดับการมอง

การจัดโต๊ะเขียนหนังสือที่เหมาะกับการทำงานตลอดวัน ระยะของจอมอนิเตอร์ควรอยู่ในระดับความสูงที่พอดีกับใบหน้าของเราเมื่ออยู่ในท่านั่งที่หลังตรงพิงกับเก้าอี้ โดยที่ขอบบนของหน้าจอสูงกว่าระดับสายตา 2-3 นิ้ว และวางหน้าจอห่างจากใบหน้าของเราเท่ากับระยะของแขนที่เอื่อมถึงได้เกือบสุด ซึ่งระยะนี้จะช่วยให้ไม่รู้สึกแสบตากับแสงของหน้าจอที่วางชิดกับเราจนเกินไป หรือวางห่างเกินไปจนต้องก้มหลังเข้าไปมองหน้าจอ

สำหรับหน้าจอที่ปรับระดับความสูงไม่ได้ อาจหาแท่นวางมารองให้สามารถวางหน้าจอได้สูงขึ้น สำหรับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คควรมีแท่นวางเสริมเช่นกัน และควรใช้คู่กับแป้นคีย์บอร์ดอีกหนึ่งอันไว้ใช้งานต่างหากแยกจากแป้นพิมพ์ที่อยู่บนคอมโน็ตบุ๊ค เพราะเราคงไม่เอื่อมแขนขึ้นไปพิมพ์งานกับคอมโน็ตบุ๊คที่ตั้งไว้สูงเท่ากับสายตาให้เมื่อยแขนอยู่แล้วใช่ไหมล่ะ

แต่หากใช้เพียงคอมโน็ตบุ๊คและแป้นพิมพ์บนตัวเครื่อง จะทำให้เราต้องก้มลงมาเล็กน้อยเพื่อมองจอคอมโน็ตบุ๊คที่มีขนาดเล็กกว่าจอมอนิเตอร์ทั่วไป ซึ่งหากเราอยู่ในท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานานก็อาจทำให้เมื่อยคอ บ่า และไหล่ได้

5. ปรับองศาแป้นพิมพ์ให้พอดีกับข้อมือ 

องศาความสูงของแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดก็มีส่วนสำคัญกับการจัดโต๊ะเขียนหนังสือทำงานที่บ้านเช่นกัน โดยระดับที่เหมาะสมของคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับที่แขนและขอมือตรงเสมอกันขณะพิมพ์ ไม่สูงหรือเตี้ยเกินไปจนต้องงอข้อมือ โดยหากใช้เป็นแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดธรรมดาทั่วไป กรอบของแป้นจะหนาสูงจากหน้าโต๊ะเล็กน้อย จึงควรจะหาแผ่นรองข้อมือมาวางเสริมระหว่างตัวเราและคีย์บอร์ดเพื่อให้ไม่ต้องยกแขนและข้อมืออยู่ตลอดเวลาขณะที่พิมพ์งานนั่นเอง

6. แท่นวางพักเท้าก็มีประโยชน์

ในการจัดโต๊ะเขียนหนังสือ หากเป็นคนที่สรีระร่างเล็ก หรือเมื่ออยู่ในท่านั่งบนเก้าอี้แล้วฝ่าเท้าลอยจากพื้น ซึ่งสำหรับโต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่สามารถปรับให้เตี้ยลงได้แบบข้อแรก การมีแท่นวางพักเท้าไว้รองรับให้สามารถวางฝ่าเท้าในระนาบเดียวกับพื้นได้ และให้หัวเข่าทำองศาใกล้มุมฉากในระดับเดียวกันกับสะโพกแบบในข้อแรกนั้นเอง โดยในโต๊ะทำงานบางรุ่นอาจถูกออกแบบให้มีคานไว้สำหรับวางพักเท้ามาให้อยู่แล้วด้วย

7. แสงสว่างที่เพียงพอก็สำคัญ

นอกจากการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมแล้ว การจัดโต๊ะเขียนหนังสือที่มีแสงสว่างเพียงพอก็นับว่าสำคัญมาก หากไม่นับเฉพาะการวางโต๊ะไว้ใกล้กับหน้าต่างเพื่อรับแสงธรรมชาติในเวลากลางวันแล้ว สำหรับคนที่่ทำงานในเวลากลางคืนที่ต้องเพิ่งพาแสงสว่างจากหลอดไฟ จึงควรคำนึงถึงตำแหน่งในการติดตั้งและหันองศาของโคมไฟ เพื่อให้โคมไฟบนโต๊ะเขียนหนังสือสว่างพอที่จะลดความเข้มของแสงที่มาจากจอมอนิเตอร์ได้ เพราะแสงในห้องที่ไม่เพียงพออาจทำให้สายตาเมื่อยล้าและแสบตาจากการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานนั่นเอง

โต๊ะเขียนหนังสือ สีดำ

One More Tips:

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการจัดโต๊ะเขียนหนังสือให้เหมาะสมในทุก ๆ ข้อที่เล่ามา การที่เราอยู่ในท่านั่งเป็นเวลานาน ๆ ก็ส่งผลเสียกับสุขภาพได้เสมอ อีก Tips สำคัญก็คือ ในระหว่างวันเราอาจปรับเปลี่ยนท่านั่งและขยับตัวบ้าง เช่น การลุกขึ้นไปเดิน หรือลุกขึ้นยืดเส้นสายแก้เมื่อย ก็จะช่วยให้ร่างกายไม่อยู่ในท่านั่งเดิม ๆ นานเกินไปนั่นเอง

อ้างอิง:

4 ข้อดีของ โซฟาเบด � ...

เก้าอี้เพื่อสุขภ� ...